วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บทคัดย่องานวิจัย

บทคัดย่องานวิจัย
ชื่อวิทยานิพนธ์ : การสร้างแผนการสอนและการศึกษาประสิทธิภาพของแผนการสอนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน
ชื่อนักศึกษา : พิเชษฐ ยังตรง
สถาบัน : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปริญญา : มหาบัณฑิต
หลักสูตร : การศึกษา
สาขา : มัธยมศึกษา-การสอนสังคมศึกษา
ปี : 2527
ISBN : -
สืบค้นข้อมูลต้นสังกัด : http://www.library.msu.ac.th/
จำนวนเปิดอ่าน : 912 ครั้ง
บทคัดย่อ: ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อสร้างแผนการสอนอย่างมีระบบ 2. เพื่อศึกษาหาประสิทธิภาพของแผนการสอนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า แผนการสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงตามเกณฑ์ กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย ด้วยการจับฉลากในทุกขั้นตอน ตามลำดับดังต่อไปนี้ 1. ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2526จังหวัดสิงห์บุรี สุ่ม 10 คน จาก 12 โรงเรียน จำนวน 19 คน 2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2526 จังหวัดสิงห์บุรีสุ่ม 10 ห้องเรียน จาก 8 โรงเรียน จำนวน 47 คน ได้นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 329 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล
ในการสร้างเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 การสร้างเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล ตอนที่ 2 การทดลองใช้เครื่องมือที่สร้างขึ้นตอนที่ 1 การสร้างเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือ ดังนี้ 1. การสร้างแผนการสอน เป็นแผนการสอนชนิดเรียงหัวข้อ รวม 5 แผนการสอนใช้เวลาในการสอนแผนการสอนละ 50 นาที ดังนี้ 1.1 แผนการสอนที่ 1 เรื่อง พุทธศาสนากับคนไทย 1.2 แผนการสอนที่ 2 เรื่อง สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (วัด) 1.3 แผนการสอนที่ 3 เรื่อง ประติมากรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (พระพุทธรูป) 1.4 แผนการสอนที่ 4 เรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (วรรณคดี) 1.5 แผนการสอนที่ 5 เรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (นิทานสุภาษิต) 2. การสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นข้อสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ4 ตัวเลือก ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาโดยพิจารณาตามจุดประสงค์การเรียนรู้ตรวจสอบหาค่าความยากง่าย ค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ทางสถิติที่เรียกว่า High-Low 27 Percent Group Method of Item Analysis ได้ข้อสอบที่มีความยากง่ายระหว่าง .20-.80 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .20 ขึ้นไป จำนวน 31 ข้อตรวจสอบความเชื่อมั่นของข้อสอบโดยใช้สูตรของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน 20 (Kuder-RichardsonFormular 20) ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .82 3. การสร้างแบบประเมินผลแผนการสอน เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพแผนการสอนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า โดยแบ่งคำถามออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 3.1 มโนมติ 3.2 วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 3.3 เนื้อหา 3.4 กิจกรรมการเรียน 3.5 สื่อการสอน 3.6 การประเมินผล เลือกแบบสอบถามที่มีค่าอำนาจจำแนกสูงคือ มีค่าที (t-test) เท่ากับ 1.75 ขึ้นไปได้แบบสอบถามจำนวน 33 ข้อ ตรวจสอบความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยสูตรการหาค่าความเชื่อมั่นแบบแอลฟา (Coefficient Alpha) ของ ครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .84 ตอนที่ 2 การทดลองใช้เครื่องมือที่สร้างขึ้น ผู้วิจัยได้ดำเนินการดังนี้ 1. นำแผนการสอนที่สร้างขึ้นไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 คนเพื่อหาแนวปรับปรุงแก้ไขในเรื่องเวลา ความยากง่ายของเนื้อหา การจัดกิจกรรมการเรียนการใช้สื่อการสอน การใช้แบบทดสอบ แล้วนำแผนการสอนที่ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้อีกครั้งหนึ่งกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นนำไปผลิตเป็นแผนการสอนเพื่อใช้ในภาคสนามต่อไป 2. นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไปทดลองสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 ห้องเรียน นำมาตรวจให้คะแนน แล้วหาค่าอำนาจจำแนกค่าความยากง่ายและค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยขอความร่วมมือจากบัณฑิตวิทยาลัย ทำหนังสือเพื่อขอทำการทดลองในโรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ในการทดลองนี้ใช้ครูประจำการ โดยที่ผู้วิจัยเป็นผู้สังเกตการณ์โรงเรียนละ 2 ครั้งตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2526 - วันที่ 14 มกราคม 2527 การวิเคราะห์ข้อมูล หาประสิทธิภาพของแผนการสอนแต่ละแผนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐาน 80-80 โดยใช้อัตราส่วนดังนี้ 1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ใช้อัตราส่วนของ 80 เปอร์เซนต์ ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่ทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 2. ความคิดเห็นของครูต่อแผนการสอน ใช้อัตราส่วน 80 เปอร์เซนต์ ของคะแนนความคิดเห็นที่ครูให้ได้ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สรุปผลการศึกษาค้นคว้า จากการศึกษาค้นคว้า ผู้วิจัยขอแยกกล่าวเป็นหัวข้อดังนี้ 1. ลักษณะของแผนการสอนที่สมบูรณ์ 2. ข้อบกพร่องของแผนการสอนที่ 1 3. สรุปผลจากการศึกษาค้นคว้า ลักษณะของแผนการสอนที่สมบูรณ์ ควรมีองค์ประกอบดังนี้ 1. หัวเรื่อง 2. มโนมติ 3. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 4. กิจกรรมการเรียน 5. สื่อการสอน 6. การประเมินผล สามารถแสดงเป็นแบบฟอร์มได้ดังนี้ ข้อบกพร่องของแผนการสอนที่ 1 1. วัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียน ตัวอย่างเช่น วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ให้เหตุผลว่าวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนในสังคมได้ถูกต้อง กิจกรรมการเรียน แจกเอกสารให้นักเรียนทุกๆ คนๆ ละ 1 ชุด ในเรื่องไม่สมชื่อ เป็นบทสนทนาระหว่างบุคคล 2 คน เนื้อความโดยสรุปคือ เด็กชายคนหนึ่งได้เงินจากมารดาแทนที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์กลับนำไปเที่ยวโดยชวนเพื่อนอีกคนหนึ่งไปด้วย ซึ่งไม่เห็นด้วยเกิดการโต้เถียงกัน ในที่สุดก็ไปเที่ยวด้วยกันและเกิดปัญหาตามมาคือเงินหมด ไม่มีเงินซื้อยาให้มารดาและค่ารถกลับบ้าน ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวมุ่งเน้นเรื่องความประหยัดการใช้เงินเสียมากกว่าจึงไม่ตรงกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ตั้งไว้ 2. เนื้อหาไม่สัมพันธ์กับเวลา เพราะเนื้อมาก แต่เวลาน้อย 3. แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนยากเกินความสามารถของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4. เนื่องจากแผนการสอนที่ 1 ยังเป็นของใหม่สำหรับนักเรียนในระดับนี้ นักเรียนยังไม่คุ้นเคยกับกิจกรรมการเรียนซึ่งต่างจากที่เคยปฏิบัติในชั้นเรียนปกติจึงทำให้สับสน ครูผู้สอนต้องเสียเวลาในการอธิบายวิธีปฏิบัติกิจกรรมมากจึงเกิดปัญหาเรื่องเวลา สรุปผลการศึกษาค้นคว้า จากการศึกษาพบว่า แผนการสอนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน80-80 4 แผนการสอน และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 80-80 1 แผนการสอน ดังมีรายละเอียดดังนี้ 1. แผนการสอนที่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ 1.1 แผนการสอนที่ 2 เรื่อง สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (วัด) 1.2 แผนการสอนที่ 3 เรื่อง ประติมากรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (พระพุทธรูป) 1.3 แผนการสอนที่ 4 เรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (วรรณคดี) 1.4 แผนการสอนที่ 5 เรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา (นิทานสุภาษิต) 2. แผนการสอนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ แผนการสอนที่ 1 เรื่อง พุทธศาสนากับคนไทย ข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยมีความเห็นว่าการวางแผนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูทุกคน ไม่ว่าจะสอนวิชาใดๆ ก็ตาม โดยที่ได้มีการจัดลำดับประสบการณ์และกิจกรรมไว้เป็นขั้นตอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลทำให้ครูเกิดความมั่นใจในการสอนมากขึ้นเด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงและเรียนอย่างมีจุดหมายยิ่งขึ้น ผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางในการทำแผนการสอนดังนี้ เนื่องจากการสร้างแผนการสอนครั้งนี้พบข้อบกพร่องในเรื่องต่อไปนี้ 1. เนื้อหาและกิจกรรมการเรียนมากเกินไป ไม่เหมาะสมกับเวลาภายใน 1 คาบเรียนประมาณ 50 นาที 2. สื่อการสอนไม่ชัดเจน เช่น ตัวหนังสือในแผนภูมิเล็กเกินไป นักเรียนที่นั่งหลังชั้นเรียนมองไม่ค่อยเห็น 3. แบบทดสอบยากเกินไป โดยเฉพาะคำถาม-คำตอบยาวเกินไป ดังนั้นในการจัดทำแผนการสอนครั้งต่อไปจึงควรคำนึงและต้องกระทำในสิ่งต่อไปนี้ 1. ด้านเนื้อหา ต้องจัดเนื้อหาให้เหมาะสมกับเวลา วัย และความสามารถของนักเรียน 2. ด้านกิจกรรมการเรียน ต้องเรียงลำดับขั้นตอนของระบบการเรียนการสอน ได้แก่ขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นสรุป โดยพยายามเน้นให้นักเรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรม ครูเป็นเพียงผู้แนะนำ ดูแล เท่านั้น และควรจัดกิจกรรมหลายๆ ประเภทในแต่ละคาบเรียนจะทำให้นักเรียนไม่เบื่อเรียน 3. ด้านสื่อการสอน ต้องสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียน และต้องมีความชัดเจนสื่อความหมายได้ดี เช่น รูปภาพต้องใหญ่และชัดเจนเห็นได้ทั่วชั้นเรียน แผนภูมิต้องมีตัวอักษรที่ชัดเจน อ่านง่าย สามารถมองเห็นได้ทั่วชั้นเรียน 4. แบบทดสอบ ต้องมีความยากง่ายพอเหมาะกับวัยของนักเรียน คำถามต้องเป็นประโยคคำถาม และคำตอบต้องเป็นปรนัย ไม่คลุมเครือ ใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วไม่ต้องแปลภาษาไทยเป็นไทย

เอกสารอ้างอิง
พิเชษฐ์ ยังตรง.(2527). การสร้างแผนการและการศึกษาประสิทธิภาพของแผนการสอนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า
1. ทำให้ทราบแหล่งข้อมูลในการค้นคว้า บทคัดย่องานวิจัย
จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
2.ได้เรียนรู้วิธีการเขียนบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์
3.ได้ทราบถึงวิธีการและรูปแบบการเขียนงานวิจัยที่ถูกต้อง
4.มีความรู้วิธีการเขียนแหล่งอ้างอิงของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
5.มีความรู้ที่จะได้จากการศึกษางานวิจัยไปพัฒนาการศึกษาในอนาคต
6.มีความรู้ที่จะนำไปบูรณาการและต่อยอดกับสาขาวิชาการอื่น ๆ ได้
7. มีความรู้ในการนำไปพัฒนาการทำวิจัยในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น